พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพวิศวกรรม
พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๙ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราช อาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ ๒๕๔๒”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศใน ราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิก
(๑) พระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. ๒๕๐๕
(๒) พระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๒
(๓) พระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๐
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
“วิชาชีพวิศวกรรม” หมายความว่า วิชาชีพวิศวกรรมในสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมเหมืองแร่ วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมอุตสาหการ และ สาขาวิศวกรรมอื่น ๆ ที่กำหนดในกฎกระทรวง
“วิชาชีพวิศวกรรมควบคุม” หมายความว่า วิชาชีพวิศวกรรมที่กำหนดใน กฎกระทรวง
“ใบอนุญาต” หมายความว่า ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ตามพระราชบัญญัตินี้
“ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม” หมายความว่า บุคคลซึ่งได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมจากสภาวิศวกร
“สมาชิก” หมายความว่า สมาชิกสภาวิศวกร
“กรรมการ” หมายความว่า กรรมการสภาวิศวกร
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการสภาวิศวกร
“เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการสภาวิศวกร
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า บุคคลซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่กับออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
หมวด ๑
สภาวิศวกร
-----------------------
มาตรา ๖ ให้มีสภาวิศวกร มีวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้
ให้สภาวิศวกรเป็นนิติบุคคล
มาตรา ๗ สภาวิศวกรมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
(๑) ส่งเสริมการศึกษา การวิจัย และการประกอบวิชาชีพวิศวกรรม
(๒) ส่งเสริมความสามัคคีและไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของสมาชิก
(๓) ส่งเสริมสวัสดิการและผดุงเกียรติของสมาชิก
(๔) ควบคุมความประพฤติและการดำเนินงานของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ให้ถูกต้องตามมาตรฐานและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพวิศวกรรม
(๕) ช่วยเหลือ แนะนำ เผยแพร่ และให้บริการทางด้านวิชาการต่างๆ แก่ประชาชน และองค์กรอื่นในเรื่องที่เกี่ยวกับวิทยาการและเทคโนโลยีทางวิศวกรรม
(๖) ให้คำปรึกษา หรือข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเกี่ยวกับนโยบายและปัญหาด้านวิศวกรรมรวมทั้งด้านเทคโนโลยี
(๗) เป็นตัวแทนของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมของประเทศไทย
(๘) ดำเนินการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๘ สภาวิศวกรมีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) ออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม
(๒) พักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาต
(๓) รับรองปริญญา ประกาศนียบัตร หรือวุฒิบัตรในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม
(๔) รับรองความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม
(๕) เสนอแนะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการกำหนดและการเลิกสาขาวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม
(๖) ออกข้อบังคับสภาวิศวกรว่าด้วย
(ก) การกำหนดลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๒ (๖)
(ข) การรับสมัครเป็นสมาชิก ค่าจดทะเบียนสมาชิก ค่าบำรุงและค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากสมาชิกหรือบุคคลภายนอก
(ค) การเลือกและการเลือกตั้งกรรมการตามมาตรา ๓๒
(ง) การออกใบอนุญาต อายุใบอนุญาต การพักใช้ใบอนุญาต การเพิกถอนใบอนุญาต และการรับรองความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม
(จ) คุณสมบัติ วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากการดำรงตำแหน่งของผู้ตรวจตามมาตรา ๒๐ วรรคสอง
(ฉ) หลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตแต่ละระดับตามมาตรา ๔๖
(ช) คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ขอรับใบอนุญาตตามมาตรา ๔๙
(ซ) จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพวิศวกรรม และการประพฤติผิดจรรยาบรรณอันจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ
(ฌ) มาตรฐานในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม
(ญ) การประชุมของที่ประชุมใหญ่สภาวิศวกร
(ฎ) การใด ๆ ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้
ข้อบังคับสภาวิศวกรนั้น ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภานายกพิเศษและเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
(๗) ดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสภาวิศวกร
มาตรา ๙ สภาวิศวกรอาจมีรายได้ดังนี้
(๑) ค่าจดทะเบียนสมาชิก ค่าบำรุง และค่าธรรมเนียมตามพระราชบัญญัตินี้
(๒) เงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดิน
(๓) ผลประโยชน์จากการจัดการทรัพย์สินและการดำเนินกิจการของสภาวิศวกร
(๔) เงินและทรัพย์สินซึ่งมีผู้ให้แก่สภาวิศวกร
(๕) ดอกผลของเงินและทรัพย์สินตาม (๑) (๒) (๓) และ (๔)
มาตรา ๑๐ ให้รัฐมนตรีดำรงตำแหน่งสภานายกพิเศษแห่งสภาวิศวกร และมีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้
หมวด ๒
สมาชิก
-----------------------
มาตรา ๑๑ สมาชิกสภาวิศวกรมีสามประเภท ดังนี้
(๑) สมาชิกสามัญ
(๒) สมาชิกวิสามัญ
(๓) สมาชิกกิตติมศักดิ์
มาตรา ๑๒ สมาชิกสามัญต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
(๑) มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์
(๒) มีสัญชาติไทย
(๓) มีความรู้ในวิชาชีพวิศวกรรมโดยได้รับปริญญา ประกาศนียบัตรหรือ วุฒิบัตรเทียบเท่าปริญญาในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ที่สภาวิศวกรรับรอง
(๔) ไม่เป็นผู้ประพฤติผิดจรรยาบรรณ อันนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ แห่งวิชาชีพตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาวิศวกร
(๕) ไม่เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในคดีที่เป็นการประพฤติผิดจรรยาบรรณอันจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพตามที่กำหนด ในข้อบังคับสภาวิศวกร
(๖) ไม่เป็นผู้มีจิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ หรือไม่เป็นโรคที่กำหนดในข้อบังคับสภาวิศวกร
สมาชิกวิสามัญต้องเป็นผู้ที่ปฎิบัติงานเกี่ยวข้องกับวิชาชีพวิศวกรรมและมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาวิศวกร
สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งที่ประชุมใหญ่สภาวิศวกรแต่งตั้ง
มาตรา ๑๓ สิทธิและหน้าที่ของสมาชิกสามัญ มีดังต่อไปนี้
(๑) แสดงความคิดเห็นในการประชุมใหญ่สภาวิศวกร
(๒) ออกเสียงลงคะแนนในการประชุมใหญ่สภาวิศวกร
(๓) แสดงความเห็นและซักถามเป็นหนังสือเกี่ยวกับกิจการของสภาวิศวกรต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาและในกรณีที่สมาชิกร่วมกันตั้งแต่ห้าสิบคนขึ้นไป เสนอให้คณะกรรมการพิจารณาเรื่องใดที่เกี่ยวกับกิจการของสภาวิศวกร คณะกรรมการต้องพิจารณาและแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้เสนอทราบโดยมิชักช้า
(๔) เลือก รับเลือกตั้ง หรือรับแต่งตั้งเป็นกรรมการ
(๕) ชำระค่าจดทะเบียนสมาชิกและค่าบำรุงตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาวิศวกร
(๖) ผดุงไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพและปฎิบัติตนตามพระราชบัญญัตินี้
สมาชิกวิสามัญหรือสมาชิกกิตติมศักดิ์ให้มีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับสมาชิกสามัญเว้นแต่สิทธิและหน้าที่ตาม (๒) และ (๔)
มาตรา ๑๔ สมาชิกภาพของสมาชิกย่อมสิ้นสุดเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) คณะกรรมการมีมติให้พ้นจากสมาชิกภาพ เพราะขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๑๒ สำหรับกรณีสมาชิกสามัญและสมาชิกวิสามัญแล้วแต่กรณี
(๔) ที่ประชุมใหญ่สภาวิศวกรมีมติเพิกถอนการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์
(๕) ไม่ชำระค่าจดทะเบียนสมาชิกหรือค่าบำรุงโดยไม่มีเหตุอันควรตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาวิศวกร
(๖) สภาวิศวกรมีมติเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา ๖๔
มาตรา ๑๕ ให้มีการประชุมสมาชิกเป็นการประชุมใหญ่สามัญปีละหนึ่งครั้ง การประชุมใหญ่คราวอื่นนอกจากนี้เรียกว่า การประชุมใหญ่วิสามัญ
มาตรา ๑๖ ให้คณะกรรมการจัดให้มีการประชุมใหญ่ตามที่จำเป็น
สมาชิกสามัญอาจขอให้ประชุมใหญ่วิสามัญได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับสภาวิศวกร ในการนี้คณะกรรมการต้องเรียกประชุมใหญ่วิสามัญภายในสามสิบวันนับแต่วันรับคำร้องขอ
มาตรา ๑๗ ในการประชุมใหญ่สภาวิศวกร ถ้าสมาชิกสามัญมาประชุมไม่ครบจำนวนสองร้อยคนและการประชุมใหญ่นั้นได้เรียกตามคำร้องขอของสมาชิกก็ให้งดการประชุม แต่ถ้าเป็นการประชุมใหญ่ที่สมาชิกมิได้เป็นผู้ร้องขอให้เลื่อนการประชุมนั้นออกไป โดยให้นายกสภาวิศวกรเรียกประชุมใหญ่อีกครั้งภายในสี่สิบห้าวัน
มาตรา ๑๘ ในการประชุมใหญ่สภาวิศวกร ให้นายกสภาวิศวกรเป็นประธานในที่ประชุม ในกรณีที่นายกสภาวิศวกรไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้อุปนายกสภาวิศวกรผู้ทำการแทนตามมาตรา ๓๔ เป็นประธานในที่ประชุม ถ้านายกสภาวิศวกรและอุปนายกสภาวิศวกรไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้สมาชิกที่มาประชุมเลือกสมาชิกคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
มาตรา ๑๙ ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี กิจการอันพึงกระทำได้แก่
(๑) ให้ความเห็นชอบแผนการดำเนินงานประจำปีของคณะกรรมการ
(๒) พิจารณาและอนุมัติงบดุลประจำปีของสภาวิศวกร
(๓) ตั้งผู้สอบบัญชีและกำหนดค่าตอบแทนผู้สอบบัญชี
มาตรา ๒๐ ให้มีผู้ตรวจคนหนึ่งหรือหลายคนตามที่ที่ประชุมใหญ่สภาวิศวกรแต่งตั้งจากสมาชิกหรือบุคคลภายนอก
คุณสมบัติ วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากการดำรงตำแหน่งให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาวิศวกร
ผู้ตรวจมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินงานของคณะกรรมการ แล้วทำรายงานเสนอต่อที่ประชุมใหญ่สภาวิศวกร
มาตรา ๒๑ ในการตรวจสอบการดำเนินงานของคณะกรรม ให้ผู้ตรวจมีอำนาจเข้าไปตรวจสถานที่ทำการงานต่างๆ ของสภาวิศวกรในระหว่างเวลาทำงานได้ และให้ผู้ซึ่งเกี่ยวข้องอำนวยความสะดวก ช่วยเหลือ หรือให้คำชี้แจงแก่ผู้ตรวจตามควรแก่กรณี
มาตรา ๒๒ กรรมการ อนุกรรมการ เจ้าหน้าที่สภาวิศวกร ลูกจ้าง และตัวแทนของสภาวิศวกรมีหน้าที่ส่งเอกสารหลักฐานต่างๆ ซึ่งตนเก็บรักษาหรืออยู่ในอำนาจของตนให้แก่ผู้ตรวจ และให้คำชี้แจงเกี่ยวกับการดำเนินงานต่างๆ ในกิจการของสภาวิศวกร ทั้งนี้เมื่อผู้ตรวจร้องขอ
มาตรา ๒๓ ในกรณีที่พบว่าคณะกรรมการมิได้ดำเนินงานตามแผนการดำเนินงานประจำปีหรือดำเนินงานไปในทางที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือขัดต่อวัตถุประสงค์ของสภาวิศวกร ให้ผู้ตรวจแจ้งให้ที่ประชุมใหญ่สภาวิศวกร หรือสมาชิกสามัญตามที่ตนเห็นสมควรเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
หมวด ๓
คณะกรรมการ
-----------------------
มาตรา ๒๔ ให้มีคณะกรรมการสภาวิศวกร ประกอบด้วย
(๑) กรรมการซึ่งสมาชิกสามัญเลือกตั้งขึ้นจากสมาชิกสามัญ และมิได้ดำรงตำแหน่งคณาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาระดับปริญญา จำนวนสิบคน
(๒) กรรมการซึ่งสมาชิกสามัญเลือกตั้งขึ้นจากสมาชิกสามัญ และดำรงตำแหน่งคณาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาระดับปริญญา จำนวนห้าคน
(๓) กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากสมาชิกสามัญโดยการเสนอชื่อของรัฐมนตรี จำนวนห้าคน
ในการเลือกตั้งและแต่งตั้งกรรมการตามวรรคหนึ่ง ให้คำนึงถึงสมาชิกสามัญจากสาขาวิศวกรรมควบคุมต่างๆ ในสัดส่วนที่เหมาะสม
มาตรา ๒๕ เมื่อได้มีการแต่งตั้งกรรมการและทราบผลการเลือกตั้งกรรมการตามาตรา ๒๔ แล้ว ให้สภานายกพิเศษกำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการภายในสามสิบวัน และให้ถือว่าวันประชุมดังกล่าวเป็นวันเริ่มวาระของการอยู่ในตำแหน่งกรรมการ
มาตรา ๒๖ ให้คณะกรรมการเลือกกรรมการเพื่อดำรงตำแหน่งนายกสภาวิศวกรอุปนายกสภาวิศวกรคนที่หนึ่ง และอุปนายกสภาวิศวกรคนที่สอง ตำแหน่งละหนึ่งคน
ให้นายกสภาวิศวกรเลือกกรรมการเพื่อดำรงตำแหน่งเลขาธิการ เหรัญญิก ตำแหน่งละหนึ่งคน และอาจเลือกกรรมการเพื่อดำรงตำแหน่งอื่นได้ตามความจำเป็นทั้งนี้โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
ให้นายกสภาวิศวกรมีอำนาจถอดถอนเลขาธิการ เหรัญญิก และตำแหน่งอื่นตามวรรคสองออกจากตำแหน่งได้ ทั้งนี้โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
นายกสภาวิศวกร อุปนายกสภาวิศวกรคนที่หนึ่ง และอุปนายกสภาวิศวกรคนที่สอง ให้ดำรงตำแหน่งตามวาระของกรรมการซึ่งได้รับการเลือกตั้ง
เมื่อผู้ดำรงตำแหน่งนายกสภาวิศวกรพ้นจากหน้าที่ ให้เลขาธิการ เหรัญญิก และผู้ดำรงตำแหน่งอื่นตามวรรคสองพ้นจากตำแหน่งด้วย
มาตรา ๒๗ กรรมการต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
(๑) เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตระดับสามัญวิศวกรมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปี หรือระดับวุฒิวิศวกร
(๒) ไม่เคยถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาต
(๓) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
มาตรา ๒๘ กรรมการให้มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี กรรมการ ซึ่งได้รับเลือกตั้งจะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันไม่ได้
ให้กรรมการที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งกรรมการใหม่
มาตรา ๒๙ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) สมาชิกภาพสิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๔
(๒) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๒๗
(๓) ลาออก
(๔) สภาวิศวกรมีมติให้ออกด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกที่มาประชุม
(๕) ตำแหน่งกรรมการซึ่งได้รับการเลือกตั้งว่างลงรวมกันเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้งทั้งหมดและวาระของกรรมการเหลืออยู่ไม่ถึงเก้าสิบวัน
(๖) รัฐมนตรีโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีสั่งให้พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๖๙
มาตรา ๓๐ เมื่อตำแหน่งกรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้งว่างลง ก่อนครบวาระให้คณะกรรมการเลือกสมาชิกผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๒๗ และมาตรา ๒๔ (๑) หรือ(๒) แล้วแต่กรณี เป็นกรรมการแทนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ตำแหน่งกรรมการนั้นว่างลงแต่ถ้าวาระของกรรมการเหลืออยู่ไม่ถึงเก้าสิบวัน คณะกรรมการจะให้มีการเลือกกรรมการแทนหรือไม่ก็ได้
ในกรณีตำแหน่งกรรมการตามวรรคหนึ่งว่างลงรวมกันเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการซี่งได้รับเลือกตั้งทั้งหมดและวาระของกรรมการเหลืออยู่ตั้งแต่เก้าสิบวันขึ้นไปให้มีการประชุมใหญ่เพื่อเลือกตั้งกรรมการขึ้นแทนตำแหน่งกรรมการที่ว่าง
ให้ผู้ซึ่งได้รับเลือกหรือเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน
มาตรา ๓๑ เมื่อตำแหน่งกรรมการซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา ๒๔ (๓) ว่างลงก่อนครบวาระ ให้ดำเนินการแต่งตั้งกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างภายในสามสิบวันแต่วันที่ตำแหน่งกรรมการนั้นว่างลง แต่ถ้าระยะเวลาของกรรมการเหลืออยู่ไม่ถึงเก้าสิบวัน จะมีการแต่งตั้งแทนหรือไม่ก็ได้
ให้ผู้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งแทนอยู่ในตำแหน่งเพียงเท่าวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน
มาตรา ๓๒ การเลือกตั้งกรรมการตามมาตรา ๒๔ (๑) และ (๒) การเลือกกรรมการเพื่อดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามมาตรา ๒๖ และการเลือกหรือการเลือกตั้งกรรมการตามมาตรา ๓๐ ให้เป็นไปตามข้อบังคับสภาวิศวกร
มาตรา ๓๓ ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) บริหารและดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และข้อบังคับของ สภาวิศวกร
(๒) สอดคล้องดูแลและดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้
(๓) ออกระเบียบคณะกรรมการว่าด้วยการใด ๆ ตามที่กำหนดให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการในพระราชบัญญัตินี้ หรือตามที่ที่ประชุมใหญ่สภาวิศวกรมอบหมาย
(๔) กำหนดแผนการดำเนินงานและงบประมาณของสภาวิศวกร
(๕) วินิจฉัยชี้ขาดอุทธรณ์ ซึ่งผู้ได้รับใบอนุญาตอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการจรรยาบรรณตามมาตรา ๖๒
มาตรา ๓๔ นายกสภาวิศวกร อุปนายกสภาวิศวกรคนที่หนึ่ง อุปนายกสภาวิศวกรคนที่สอง เลขาธิการ และเหรัญญิก มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) นายกสภาวิศวกรมีอำนาจหน้าที่
(ก) เป็นผู้แทนสภาวิศวกรในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก
(ข) เป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการและที่ประชุมใหญ่สภาวิศวกร
(ค) ดำเนินกิจการของสภาวิศวกรใ้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการ
(๒) อุปนายกสภาวิศวกรคนที่หนึ่งเป็นผู้ช่วยนายกสภาวิศวกรในกิจการอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของนายกสภาวิศวกรตามที่นายกสภาวิศวกรมอบหมาย และเป็นผู้ทำการแทนนายกสภาวิศวกรเมื่อนายกสภาวิศวกรไม่อยู่ หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
(๓) อุปนายกสภาวิศวกรคนที่สองเป็นผู้ช่วยนายกสภาวิศวกรในกิจการอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของนายกสภาวิศวกรตามที่นายกสภาวิศวกรมอบหมาย และเป็นผู้ทำการแทนนายกสภาวิศวกรเมื่อนายกสภาวิศวกร และอุปนายกสภาวิศวกรที่หนึ่งไม่อยู่ หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
(๔) เลขาธิการมีอำนาจหน้าที่
(ก) ควบคุมบัญชาเจ้าหน้าที่สภาวิศวกรทุกระดับ
(ข) เป็นเลขานุการในที่ประชุมคณะกรรมการและที่ประชุมใหญ่สภาวิศวกร
(ค) ดำเนินการตามที่นายกสภาวิศวกรมอบหมาย
(๕) เหรัญญิกมีอำนาจหน้าที่ควบคุม ดูแล รับผิดชอบการบัญชี การเงินและการงบประมาณของสภาวิศวกร
นายกสภาวิศวกรอาจมอบหมายให้อุปนายก กรรมการ และเลขาธิการ เหรัญญิก หรือเจ้าหน้าที่ของสภาวิศวกรกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดแทนได้ตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาวิศวกร
หมวด ๔
การดำเนินการของคณะกรรมการ
-----------------------
มาตรา ๓๕ การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
ให้นายกสภาวิศวกรเป็นประธานในที่ประชุม ในกรณีที่นายกสภาวิศวกรไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้อุปนายกสภาวิศวกร ผู้ทำการแทนตามมาตรา ๓๔ เป็นประธานในที่ประชุม ถ้านายกสภาวิศวกรและอุปนายกสภาวิศวกรไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
มติของที่ประชุม ให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
ในกรณีให้สมาชิกพ้นจากสมาชิกภาพตามมาตรา ๑๔ (๓) มติของที่ประชุม ให้ถือคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการที่มาประชุม
มาตรา ๓๖ สภานายกพิเศษจะเข้าร่วมการประชุม และชี้แจงแสดงความเห็นในที่ประชุมคณะกรรมการ หรือจะส่งความเห็นเป็นหนังสือไปยังสภาวิศวกรในเรื่องใด ๆ ก็ได้
มาตรา ๓๗ ในการดำเนินงานของคณะกรรมการ ให้คณะกรรมการจัดทำแผนการดำเนินงานและงบประมาณประจำปีเสนอต่อที่ประชุมใหญ่สภาวิศวกรเมื่อที่ประชุมมีมติเห็นชอบแล้วจึงดำเนินงานได้
ให้คณะกรรมการจัดทำรายงานประจำปีแสดงผลงานของคณะกรรมการในปีที่ล่วงมา คำชี้แจงเกี่ยวกับนโยบาย พร้อมด้วยงบดุลและบัญชีรายได้และรายจ่ายประจำปี ซึ่งผู้สอบบัญชีตามกฎหมายว่าด้วยผู้สอบบัญชีรับรองเสนอต่อที่ประชุมใหญ่สภาวิศวกรภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีปฏิทิน
มาตรา ๓๘ คณะกรรมการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดแทนคณะกรรมการได้
การประชุมของคณะอนุกรรมการให้เป็นไปตามที่กำหนดในระเบียบคณะกรรมการ
มาตรา ๓๙ ให้มีสำนักงานสภาวิศวกรทำหน้าที่ธุรการต่างๆ ให้แก่คณะกรรมการและสภาวิศวกร
มาตรา ๔๐ ให้นายกสภาวิศวกรแต่งตั้งหัวหน้าสำนักงานสภาวิศวกรตามมติของคณะกรรมการจากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้อห้ามดังต่อไปนี้
(๑) มีสัญชาติไทย
(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบปีบริบูรณ์
(๓) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย บุคคลวิกลจริต หรือคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
(๔) ไม่เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๕) คุณสมบัติอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๔๑ การดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง การกำหนดค่าจ้างและเงื่อนไขอื่นในการทำงานในหน้าที่หัวหน้าสำนักงานสภาวิศวกรให้เป็นไปตามแบบสัญญาจ้างที่สภาวิศวกรกำหนด
มาตรา ๔๒ หัวหน้าสำนักงานสภาวิศวกรมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
(๑) ควบคุมรับผิดชอบงานธุรการทั่วไปของสภาวิศวกร
(๒) ดูแลรักษาทะเบียนสมาชิก ทะเบียนผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
วิศวกรรมควบคุม และทะเบียนอื่น ๆ ของสภาวิศวกร
(๓) ควบคุมดูแลทรัพย์สินของสภาวิศวกร
(๔) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการหรือเลขาธิการมอบหมาย
หมวด ๕
ข้อบังคับสภาวิศวกร
-----------------------
มาตรา ๔๓ ร่างข้อบังคับสภาวิศวกรจะเสนอได้ก็แต่โดยคณะกรรมการหรือสมาชิกสามัญ
การเสนอร่างข้อบังคับสภาวิศวกรของสมาชิกสามัญจะกระทำได้เมื่อมีสมาชิกสามัญจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคนรับรอง
ให้คณะกรรมการจัดให้มีการประชุมใหญ่สภาวิศวกรเพื่อพิจารณาร่างข้อบังคับสภาวิศวกรที่มีการเสนอตามความเหมาะสมแก่กรณี การพิจารณาร่างข้อบังคับสภาวิศวกรจะเสนอเป็นวาระจรไม่ได้ แต่ต้องกำหนดเป็นวาระในหนังสือนัดประชุมให้ชัดเจนและแนบร่างข้อบังคับสภาวิศวกรที่เสนอไปพร้อมกันด้วย
มาตรา ๔๔ เมื่อที่ประชุมใหญ่สภาวิศวกรมีมติให้ความเห็นชอบร่างข้อบังคับสภาวิศวกรด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญที่เข้าประชุม ให้นายกสภาวิศวกรเสนอร่างข้อบังคับสภาวิศวกรต่อสภานายกพิเศษโดยไม่ชักช้า สภานายกพิเศษอาจยับยั้งร่างข้อบังคับนั้นได้แต่ต้องแสดงเหตุผลโดยแจ้งชัด ในกรณีที่มิได้ยับยั้งภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างข้อบังคับที่นายกสภาวิศวกรเสนอ ให้ถือว่าสภานายกพิเศษให้ความเห็นชอบร่างข้อบังคับนั้น
ถ้าสภานายกพิเศษยับยั้งร่างข้อบังคับใด ให้คณะกรรมการประชุมอีกครั้งหนึ่งภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับการยับยั้ง ในการประชุมครั้งหลังนี้ ถ้ามีเสียงยืนยันมติไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งคณะ ให้ถือว่าร่างข้อบังคับนั้นได้รับความเห็นชอบจากสภานายกพิเศษแล้ว
หมวด ๖
การควบคุมการประกอบวิชาชีพวิศวกรรม
-----------------------
มาตรา ๔๕ ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมหรือแสดงด้วยวิธีใด ๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนพร้อมจะประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมสาขาใด เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตในสาขานั้นจากสภาวิศวกร
มาตรา ๔๖ ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมแต่ละสาขามี ๔ ระดับ คือ
(๑) วุฒิวิศวกร
(๒) สามัญวิศวกร
(๓) ภาคีวิศวกร
(๔) ภาคีวิศวกรพิเศษ
หลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมแต่ละระดับให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาวิศวกร
มาตรา ๔๗ ห้ามมิให้ผู้ใดใช้คำหรือข้อความที่แสดงให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็น ผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ทั้งนี้ รวมถึงการใช้ จ้างวานหรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำดังกล่าวให้ตน เว้นแต่ผู้ได้รับวุฒิบัตรหรือหนังสืออนุมัติเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมสาขานั้น ๆ จากสภาวิศวกรหรือสถาบันที่สภาวิศวกรรับรอง หรือผู้ได้รับใบอนุญาตซึ่งมีคุณสมบัติตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาวิศวกร
มาตรา ๔๘ การออกใบอนุญาต อายุใบอนุญาต การพักใช้ใบอนุญาต การเพิกถอนใบอนุญาต และการรับรองความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาวิศวกร
มาตรา ๔๙ ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาวิศวกร
ผู้ขอรับใบอนุญาตที่เป็นบุคคลธรรมดาต้องเป็นสมาชิกสามัญหรือสมาชิกวิสามัญของสภาวิศวกรและถ้าขาดจากสมาชิกภาพเมื่อใดให้ใบอนุญาตของผู้นั้นสิ้นสุดลง
ผู้ขอรับใบอนุญาตที่เป็นนิติบุคคล ไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลซึ่งมีทุนเป็นของคนต่างด้าวจำนวนเท่าใด นิติบุคคลนั้นอย่างน้อยต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
(๑) มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในราชอาณาจักร
(๒) ผู้เป็นหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วน กรรมการของบริษัท หรือสมาชิกในคณะ
ผู้บริหารของนิติบุคคลจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง หรือหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วน กรรมการ ผู้จัดการของบริษัท หรือผู้มีอำนาจบริหารแต่ผู้เดียวของนิติบุคคลเป็นผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาต ตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๕๐ ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องประพฤติตนตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพวิศวกรรมตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาวิศวกร
มาตรา ๕๑ บุคคลซึ่งได้รับความเสียหายหรือพบการประพฤติผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพวิศวกรรมของผู้ได้รับใบอนุญาต มีสิทธิกล่าวหาผู้ได้รับใบอนุญาตผู้นั้นโดยทำเรื่องยื่นต่อสภาวิศวกร
กรรมการหรือบุคคลอื่นมีสิทธิกล่าวโทษผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมว่าผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม โดยแจ้งเรื่องต่อสภาวิศวกร
สิทธิการกล่าวหาตามวรรคหนึ่ง หรือสิทธิการกล่าวโทษตามวรรคสองสิ้นสุดลงเมื่อพ้นหนึ่งปี นับแต่วันที่ผู้ได้รับความเสียหายหรือผู้กล่าวโทษรู้เรื่องการประพฤติผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมดังกล่าวและรู้ตัวผ
|
Today 26 |
|
This Mouth 1623 |
|
Total 144531 |
Copyright : 2018 allspection.com
Scroll To Top