กฏหมายและข้อบังคับ




ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การป้องกันและระงับอัคคีภัยในโรงงาน พ.ศ. 2552
วันที่ 22/07/2023   02.18 PM

 

ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม
เรื่อง การป้องกันและระงับอัคคีภัยในโรงงาน
พ.ศ. ๒๕๕๒
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

โดยที่เป็นการสมควรให้กำหนดประเภทหรือชนิดของโรงงานที่จะต้องมีมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยในการประกอบกิจการโรงงาน และแก้ไขหน้าที่ของผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๑๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. ๒๕๑๒ อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๑๘ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. ๒๕๓๕ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งตามมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๓ มาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

หมวด ๑
บททั่วไป
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ข้อ ๑ ประกาศนี้ใช้บังคับกับโรงงานจำพวกที่ ๒ หรือจำพวกที่ ๓ ที่เป็นโรงงานที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยสูงหรือปานกลางตามประเภทหรือชนิดของโรงงานที่ระบุในบัญชีท้ายประกาศนี้

ข้อ ๒ ให้ยกเลิกข้อ ๖ ข้อ ๗ ข้อ ๘ ข้อ ๙ ข้อ ๑๐ ข้อ ๑๑ ข้อ ๑๒ ข้อ ๑๓ ข้อ ๑๔ ข้อ ๑๕ ข้อ ๑๖ ข้อ ๑๗ และข้อ ๑๘ ของประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๑๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. ๒๕๑๒

ข้อ ๓ ในประกาศนี้

“โรงงานที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยสูง” หมายความว่า โรงงานซึ่งมีการประกอบกิจการโรงงานที่มีการใช้เชื้อเพลิง วัตถุไวไฟ หรือมีลักษณะที่ทำให้เกิดอัคคีภัย หรือระเบิดได้ง่าย ทั้งนี้ตามประเภทหรือชนิดของโรงงานที่ระบุในบัญชีท้ายประกาศนี้

“โรงงานที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยปานกลาง” หมายความว่า โรงงานซึ่งมีการประกอบกิจการโรงงานนอกเหนือจากประเภทหรือชนิดของโรงงานที่ระบุในบัญชีท้ายประกาศนี้

“ระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้” หมายความว่า เครื่องตรวจจับควันหรือความร้อนหรือเปลวไฟที่ทำงานโดยอัตโนมัติ และอุปกรณ์แจ้งเหตุเพลิงไหม้แบบกดหรือดึงเพื่อให้สัญญาณเตือนภัย

“ระบบดับเพลิงอัตโนมัติ” หมายความว่า ระบบดับเพลิงที่สามารถทำงานได้ทันทีโดยอัตโนมัติ เมื่อเกิดเพลิงไหม้หรือความร้อนจากเพลิงไหม้ เช่น ระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงอัตโนมัติ (Automatic Sprinkler System) หรือระบบอื่นที่เทียบเท่า

“เพลิงประเภท เอ” หมายความว่า เพลิงที่เกิดจากเชื้อเพลิงธรรมดา เช่น ไม้ ผ้า กระดาษ ยาง พลาสติก

“เพลิงประเภท บี” หมายความว่า เพลิงที่เกิดจากของเหลวติดไฟ ก๊าซ และน้ำมันต่าง ๆ

“วัตถุไวไฟ” หมายความว่า วัตถุที่มีคุณสมบัติติดไฟได้ง่ายสันดาปเร็ว

“วัตถุที่ติดไฟ” หมายความว่า วัตถุที่อยู่ในภาวะพร้อมจะเกิดการสันดาป

“วัตถุทนไฟ” หมายความว่า วัตถุก่อสร้างที่ไม่เป็นเชื้อเพลิงและไม่ลดความแข็งแรงเมื่อสัมผัสกับไฟในช่วงเวลาหนึ่ง

หมวด ๒
ระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ข้อ ๔ อาคารโรงงานต้องจัดให้มีอุปกรณ์ตรวจจับและแจ้งเหตุเพลิงไหม้ครอบคลุมทั่วทั้งอาคารตามความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่มีคนงานปฏิบัติงานประจำและมีการติดตั้งหรือใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้า หรือจัดเก็บวัตถุไวไฟหรือวัสดุติดไฟได้ง่ายจะต้องติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับและแจ้งเหตุเพลิงไหม้อัตโนมัติ

อุปกรณ์แจ้งเหตุเพลิงไหม้ต้องเป็นชนิดที่ให้สัญญาณโดยไม่ต้องใช้ไฟฟ้าจากระบบแสงสว่างและที่ใช้กับเครื่องจักร หรือมีระบบไฟสำรองที่จ่ายไฟสำหรับระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ได้ไม่น้อยกว่า ๒ ชั่วโมง

ข้อ ๕ การติดตั้งระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลที่เป็นที่ยอมรับ

หมวด ๓
เครื่องดับเพลิงแบบมือถือ
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ข้อ ๖ อาคารโรงงานนอกจากได้มีการติดตั้งระบบดับเพลิงอัตโนมัติแล้ว ยังต้องติดตั้งเครื่องดับเพลิงแบบมือถือโดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ในหมวดนี้

เครื่องดับเพลิงแบบมือถือต้องเหมาะสมกับประเภทของเชื้อเพลิงและเป็นไปตาม มอก. ๓๓๒ เครื่องดับเพลิงยกหิ้วชนิดผงเคมีแห้ง หรือ มอก. ๘๘๑ เครื่องดับเพลิงยกหิ้ว : คาร์บอนไดออกไซด์ หรือ มอก. ๘๘๒ เครื่องดับเพลิงยกหิ้ว : โฟม หรือมาตรฐานที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมกำหนด หรือมาตรฐานอื่นที่เทียบเท่า

ข้อ ๗ เครื่องดับเพลิงแบบมือถือต้องมีขนาดบรรจุไม่น้อยกว่า ๔.๕ กิโลกรัม พร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา โดยต้องมีการตรวจสอบสภาพและความพร้อมในการใช้งานไม่น้อยกว่าหกเดือนต่อหนึ่งครั้ง

ข้อ ๘ การติดตั้งเครื่องดับเพลิงแบบมือถือให้เป็นไปตามรายละเอียดแนบท้ายประกาศนี้หรือตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเรื่องมาตรฐานการป้องกันอัคคีภัยสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม

ข้อ ๙ เครื่องดับเพลิงแบบมือถือที่ติดตั้งแต่ละเครื่องต้องมีระยะห่างกันไม่เกิน ๒๐ เมตรและให้ส่วนบนสุดอยู่สูงจากพื้นไม่เกิน ๑.๕๐ เมตร มีป้ายหรือสัญลักษณ์ที่มองเห็นได้ชัดเจน ไม่มีสิ่งกีดขวาง และต้องสามารถนำมาใช้งานได้สะดวก

หมวด ๔
ระบบน้ำดับเพลิง
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ข้อ ๑๐ ผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องจัดเตรียมน้ำสำหรับดับเพลิงในปริมาณที่เพียงพอที่จะส่งจ่ายน้ำให้กับอุปกรณ์ฉีดน้ำดับเพลิงได้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามสิบนาที

ข้อ ๑๑ การติดตั้งระบบน้ำดับเพลิงต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากลที่เป็นที่ยอมรับ

หมวด ๕
ระบบดับเพลิงอัตโนมัติ
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ข้อ ๑๒ โรงงานที่มีสถานที่จัดเก็บวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นวัตถุที่ติดไฟได้ ที่มีพื้นที่ต่อเนื่องติดต่อกันตั้งแต่ ๑,๐๐๐ ตารางเมตรขึ้นไป ต้องติดตั้งระบบดับเพลิงอัตโนมัติ เช่น ระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงอัตโนมัติ (Automatic Sprinkler System) หรือระบบอื่นที่เทียบเท่าให้ครอบคลุมพื้นที่นั้น

ข้อ ๑๓ การติดตั้งระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงอัตโนมัติ (Automatic Sprinkler System) ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลที่เป็นที่ยอมรับ

ข้อ ๑๔ สถานที่จัดเก็บวัตถุไวไฟ ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ ๑๔ ตารางเมตรขึ้นไป ต้องติดตั้งระบบดับเพลิงอัตโนมัติที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่นั้น

หมวด ๖
การตรวจสอบ ทดสอบ และบำรุงรักษาระบบและอุปกรณ์ต่าง ๆ
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ข้อ ๑๕ ผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องตรวจสอบ ทดสอบ และบำรุงรักษาระบบและอุปกรณ์สำหรับการป้องกันและระงับอัคคีภัยให้สามารถพร้อมทำงานได้ตลอดเวลา โดยการตรวจสอบ ทดสอบและบำรุงรักษาระบบและอุปกรณ์เหล่านั้นให้เป็นไปตามรายละเอียดแนบท้ายประกาศนี้หรือมาตรฐานสากลที่เป็นที่ยอมรับ

ข้อ ๑๖ ผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องจัดเก็บเอกสารการตรวจสอบ ทดสอบ บำรุงรักษา ระบบและอุปกรณ์ตามข้อ ๒๖ โดยให้เก็บรักษาไว้ที่โรงงาน พร้อมที่จะให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้

หมวด ๗
การฝึกอบรมเรื่องการป้องกันและระงับอัคคีภัย
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ข้อ ๑๗ ผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องจัดให้คนงานได้รับการฝึกอบรมเรื่องการป้องกันและระงับอัคคีภัยตามที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนด ทั้งนี้ต้องมีเอกสารหลักฐานที่สามารถตรวจสอบได้

หมวด ๘
อื่น ๆ
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ข้อ ๑๘ ช่องเปิดต่าง ๆ ที่อยู่ที่ผนัง พื้น หรือคานและช่องท่อต่าง ๆ ต้องใช้วัสดุปิดกั้นช่องท่อ และ ช่องเปิดเหล่านี้ด้วยวัตถุทนไฟที่ป้องกันไฟได้อย่างน้อย ๒ ชั่วโมง เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดจากเพลิงไหม้ลุกลามจากบริเวณหนึ่งไปอีกบริเวณหนึ่ง

ข้อ ๑๙ พื้นที่ของอาคารโรงงานที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยสูงและปานกลาง ที่มีสถานที่จัดเก็บวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นวัตถุที่ติดไฟได้หรือสถานที่จัดเก็บวัตถุไวไฟ ต้องกั้นแยกจากพื้นที่ส่วนอื่นของอาคารด้วยวัสดุที่มีอัตราการทนไฟได้ไม่น้อยกว่า ๑ ชั่วโมง

ข้อ ๒๐ อาคารโรงงานชั้นเดียวที่เป็นโครงเหล็ก ต้องปิดหุ้มโครงสร้างด้วยวัสดุทนไฟหรือด้วยวิธีการอื่น ที่ทำให้สามารถทนไฟได้อย่างน้อย ๑ ชั่วโมง ถ้าเป็นอาคารหลายชั้น ต้องทนไฟได้ไม่น้อยกว่า ๒ ชั่วโมง

โครงหลังคาของอาคารที่อยู่สูงจากพื้นอาคารเกิน ๘ เมตร และอาคารนั้นมีระบบดับเพลิงอัตโนมัติ หรือมีการป้องกันความร้อนหรือระบบระบายความร้อนมิให้เกิดอันตรายต่อโครงหลังคาโครงหลังคาของอาคารนั้นไม่ต้องมีอัตราการทนไฟตามที่กำหนดก็ได้

ข้อ ๒๑ การปฏิบัติงานในโรงงานซึ่งมีความเกี่ยวข้องหรือทำให้เกิดประกายไฟหรือความร้อนที่เป็นอันตราย ต้องจัดทำระบบการอนุญาตทำงานที่มีประกายไฟหรือความร้อนที่เป็นอันตราย (Hot Work Permit System) ให้เป็นไปตามหลักวิชาการด้านความปลอดภัยโดยมีเอกสารหลักฐานที่สามารถตรวจสอบได้

ข้อ ๒๒ โรงงานต้องจัดเส้นทางหนีไฟที่อพยพคนงานทั้งหมดออกจากบริเวณที่ทำงานสู่บริเวณที่ปลอดภัย เช่น ถนนหรือสนามนอกอาคารโรงงานได้ภายในห้านาที

ข้อ ๒๓ การจัดเก็บวัตถุสิ่งของที่ติดไฟได้ หากเป็นการเก็บกองวัตถุมิได้เก็บในชั้นวางความสูงของกองวัตถุนั้นต้องไม่เกิน ๖ เมตร และต้องมีระยะห่างจากโคมไฟไม่น้อยกว่า ๖๐ เซนติเมตร

ข้อ ๒๔ เครื่องจักร อุปกรณ์ ถังเก็บ ถังปฏิกิริยาหรือกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับวัตถุไวไฟต้องทำการต่อสายดิน (Grounding) หรือต่อฝาก (Bonding) เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดจากไฟฟ้าสถิต

ข้อ ๒๕ การใช้ การจัดเก็บ การขนถ่ายหรือขนย้าย ตลอดจนการจัดการต่าง ๆ เกี่ยวกับสารไวไฟและสารติดไฟ ให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ระบุไว้ในเอกสารข้อมูลความปลอดภัย (Safety Data Sheet) ของสารนั้น

ข้อ ๒๖ ผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องจัดให้มีบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยของโรงงานดำเนินการตรวจความปลอดภัยด้านอัคคีภัยเป็นประจำอย่างน้อยเดือนละครั้ง โดยจัดทำเป็นเอกสารหลักฐานที่พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบได้ หากพบสภาพที่เป็นอันตรายที่อาจก่อให้เกิดเพลิงไหม้ได้ ต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขโดยทันที

ข้อ ๒๗ ผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องจัดให้มีแผนป้องกันและระงับอัคคีภัยในโรงงานประกอบด้วยแผนการตรวจสอบความปลอดภัยด้านอัคคีภัย แผนการอบรมเรื่องการป้องกันและระงับอัคคีภัย แผนการดับเพลิง และแผนการอพยพหนีไฟ โดยเก็บแผนนี้ไว้ที่โรงงาน พร้อมให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้และต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามแผน

ข้อ ๒๘ สำหรับโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการก่อนวันที่กฎหมายฉบับนี้ มีผลบังคับใช้ การดำเนินการตามหมวด ๒ หมวด ๓ หมวด ๔ และหมวด ๕ ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสามปีนับจากวันที่ประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้

ทั้งนี้ ให้ใช้บังคับนับแต่วันถัดจากวันประกาศราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๒
ชาญชัย ชัยรุ่งเรือง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

เล่ม ๑๒๖ ตอนพิเศษ ๑๔๓ ง ราชกิจจานุเบกษา ๓๐ กันยายน ๒๕๕๒

การติดตั้งของเครื่องดับเพลิงแบบมือถือ

โรงงานที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย

ความสามารถของ

เครื่องดับเพลิง

พื้นที่ครอบคลุมต่อ

เครื่องดับเพลิง 1

เครื่องสำหรับเพลิง

ประเภท เอ

(ตารางเมตร)

ระยะทางเข้าถึง

เครื่องดับเพลิง

สำหรับเพลิง

ประเภท บี

(เมตร)

 

 

 

 

ปานกลาง

2A

3A

4A

6A

10A - 400A

10B

20B

280

418

557

836

1,045

-

-

-

-

-

-

-

9

15

 

 

 

สูง

4A

6A

10A

20A - 40A

40B

80B

372

557

930

1,045

-

-

-

-

-

-

9

15

 การตรวจสอบ ทดสอบ และบำรุงรักษาระบบและอุปกรณ์ต่าง ๆ

อุปกรณ์ป้องกันและระงับอัคคีภัย

วิธีการ

ระยะเวลา

1.       เครื่องสูบน้ำดับเพลิง

-    ขับด้วยเครื่องยนต์

-    ขับด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า

-    เครื่องสูบน้ำ

 

2.       หัวรับน้ำดับเพลิง (Fire department connections)

3.       หัวดับเพลิงนอกอาคาร (Hydrants)

 

 

4.       ถังน้ำดับเพลิง

-    ระดับน้ำ

-    สภาพถังน้ำ

5.       สายฉีดน้ำดับเพลิงและตู้เก็บสายฉีด

(Hose and hose station)

 

6.       ระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงอัตโนมัติ

(Sprinkler system)

-    จุดระบายน้ำหลัก

-    มาตรวัดความดัน

-    หัวกระจายน้ำดับเพลิง

-    สัญญาณการไหลของน้ำ

-    ล้างท่อ

-    วาล์วควบคุม

 

-    ทดสอบเดินเครื่อง

-    ทดสอบเดินเครื่อง

-    ทดสอบปริมาณการสูบน้ำ

และความดัน

-    ตรวจสอบ

 

-    ตรวจสอบ

-    ทดสอบ (เปิดและปิด)

-    บำรุงรักษา

 

-    ตรวจสอบ

-    ตรวจสอบ

-    ตรวจสอบ

 

 

 

 

-    ทดสอบการไหล

-    ทดสอบค่าแรงดัน

-    ทดสอบ

-    ทดสอบ

-    ทดสอบ

-    ตรวจสอบซีลวาล์ว

-    ตรวจสอบอุปกรณ์ล็อกวาล์ว

-    ตรวจสอบสวิทซ์สัญญาณ

-    ปิด-เปิดวาล์ว

 

ทุกสัปดาห์

ทุกเดือน

ทุกปี

 

ทุกเดือน

 

ทุกเดือน

ทุกปี

ทุกครึ่งปี

 

ทุกเดือน

ทุกครึ่งปี

ทุกเดือน

 

 

 

 

ทุก 3 เดือน

ทุก 5 ปี

ทุก 50 ปี

ทุก 3 เดือน

ทุก 5 ปี

ทุกสัปดาห์

ทุกเดือน

ทุกเดือน

 การตรวจสอบ ทดสอบ และบำรุงรักษาระบบและอุปกรณ์สำหรับการป้องกันและระงับอัคคีภัย

 

  1. เครื่องดับเพลิงชนิดมือถือ
    • การตรวจสอบประจำเดือน
      • ชนิดของเครื่องดับเพลิงแบบมือถือติดถูกต้องตามประเภทของเชื้อเพลิงหรือไม่
      • มีสิ่งกีดขวางหรือติดตั้งในตำแหน่งที่เข้าถึงได้ยากหรือไม่ สังเกตเห็นได้ง่ายหรือไม่
      • ตรวจสอบกรณีที่เครื่องดับเพลิงแบบมือถือที่มีเกจ์วัดความดันว่า ความดันยังอยู่ในสภาพปกติหรือไม่
      • ดูสภาพอุปกรณ์ประกอบว่ามีการชำรุดเสียหายหรือไม่
    • การทดสอบ

ทุก ๆ 5 ปี เครื่องดับเพลิงแบบมือถือจะต้องทดสอบการรับความดัน (hydrostatic test) เพื่อพิจารณาว่ายังสามารถใช้งานได้หรือไม่

 

  1. เครื่องสูบน้ำดับเพลิง
    • เครื่องสูบน้ำดับเพลิงขับด้วยเครื่องยนต์ดีเซล
      • ทดสอบการทำงานของเครื่องสูบน้ำดับเพลิงทุก ๆ สัปดาห์ที่อัตราความเร็วรอบทำงานด้วยระยะเวลาอย่างน้อย 30 นาทีเพื่อให้เครื่องยนต์ร้อนถึงอุณหภูมิทำงาน ตรวจสภาพของเครื่องสูบน้ำ, ชุดควบคุมการทำงานของเครื่องสูบน้ำ
      • ตรวจสอบแบตเตอรี่
      • ระบบหล่อลื่น
      • ระบบน้ำมันหล่อลื่นและน้ำมันเชื้อเพลิง
      • เปลี่ยนน้ำมันเครื่องตามระยะเวลาที่ผู้ผลิตกำหนด แต่ไม่น้อยกว่าปีละครั้ง
      • ระดับน้ำกรด-น้ำกลั่นของแบตเตอรี่ จะต้องมีระดับท่วมแผ่นธาตุตลอดเวลา
      • ในกรณีระบบเครื่องสูบน้ำเป็นแบบทำงานโดยอัตโนมัติให้ระบบควมคุมเป็นตัวสั่งการทำงานของเครื่องสูบน้ำโดยผ่านโซลีนอยส์ วาลว์
    • เครื่องสูบน้ำดับเพลิงขับด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า
      • ทดสอบการทำงานของเครื่องสูบน้ำทุก ๆ เดือน

 

  1. หัวรับน้ำดับเพลิง (Fire department connection)
    • หัวรับน้ำดับเพลิงจะต้องเห็นและเข้าถึงโดยง่ายตลอดเวลา
    • หัวรับน้ำดับเพลิงควรจะได้รับการตรวจสอบเดือนละหนึ่งครั้ง
    • ตรวจสอบหัวรับน้ำดับเพลิงว่าฝาครอบหรือปลั๊กอยู่ครบ, หัวต่อสายรับน้ำอยู่ในสภาพดี, ลิ้นกันกลับอยู่ในสภาพดีไม่มีน้ำรั่วซึม

 

  1. หัวดับเพลิงนอกอาคาร (Hydrants)
    • การตรวจสอบหัวดับเพลิง
      • ตรวจสอบหัวดับเพลิงสาธารณะที่อยู่ใกล้อาคารว่าอยู่ในสภาพที่ดีไม่เสียหาย และใช้งานได้
      • หัวดับเพลิงในสถานประกอบการควรตรวจสอบเดือนละครั้งว่าอยู่ในสภาพที่เห็นชัดเจนและเข้าถึงได้ง่ายโดยมีฝาครอบปิดอยู่เรียบร้อย
    • การบำรุงรักษาหัวดับเพลิง
      • หล่อลื่นหัวดับเพลิงปีละสองครั้ง
    • การทดสอบหัวดับเพลิง
      • ทดสอบการทำงานของหัวดับเพลิงอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง โดยการเปิดและปิดเพื่อให้แน่ใจได้ว่ามีน้ำไหลออกจากหัวดับเพลิง

 

  1. ถังน้ำดับเพลิง
    • ตรวจสอบระดับน้ำในถังน้ำเดือนละครั้ง
    • ตรวจสอบสภาพทั่วไปของถังน้ำ

 

  1. สายฉีดน้ำดับเพลิงและตู้เก็บสายฉีด (Hose and Hose Station)
    • ตรวจสอบตู้เก็บสายฉีดเดือนละหนึ่งครั้งเพื่อให้แน่ใจว่ามีอุปกรณ์ฉีดน้ำดับเพลิงอยู่ครบและอยู่ในสภาพดี
    • ตรวจสอบสายฉีดน้ำดับเพลิงแบบพับแขวน (Hose racks) หรือแบบม้วนสาย (Hose reels) และหัวฉีด (Nozzles) ว่าอยู่ในสภาพไม่เสียหาย
    • วาล์วควบคุมจะต้องอยู่ในสภาพดีไม่มีน้ำรั่วซึม

 

  1. ระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิง (Automatic Sprinklers)
    • หัวกระจายน้ำดับเพลิงจะต้องได้รับการตรวจสอบด้วยสายตาเป็นระยะ ๆ อย่างสม่ำเสมอ สภาพของหัวกระจายน้ำดับเพลิงต้องไม่ผุกร่อน, ถูกทาสีทับหรือชำรุดเสียหาย
    • การเปลี่ยนหัวกระจายน้ำดับเพลิงที่เสียหาย ณ จุดติดตั้งต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้
      • ชนิด
      • ขนาดรูหัวฉีดน้ำ
      • อุณหภูมิทำงาน
      • การเคลือบผิว
      • แบบของแผ่นกระจายน้ำ (Deflector) เช่น แบบหัวคว่ำ, แบบหัวหงาย, แบบติดตั้งข้างผนัง เป็นต้น
    • หัวกระจายน้ำดับเพลิงที่ใช้งานเป็นเวลา 50 ปี จะต้องสุ่มหัวกระจายน้ำดับเพลิงไปทดสอบการทำงานในห้องทดลองและต้องกระทำลักษณะเดียวกันนี้ทุก ๆ 10 ปี
    • หัวกระจายน้ำดับเพลิงที่มีความเสี่ยงต่อการเสียหายทางกล ควรจะมีอุปกรณ์ครอบป้องกัน (Sprinkler Guards)
    • หัวกระจายน้ำดับเพลิงสำรองจะต้องจัดเตรียมไว้ไม่น้อยกว่าหกหัว ในกล่องบรรจุเพื่อป้องกันจากความชื้น, ฝุ่น, การกัดกร่อนหรืออุณหภูมิสูงเกินกว่า 38 องศาเซลเซียส (100 องศาฟาเรนไฮต์)
    • จำนวนหัวกระจายน้ำดับเพลิงสำรอง สำหรับอาคารที่ติดตั้งหัวกระจายน้ำดับเพลิงควรมีจำนวนดังนี้

                                                                                                       จำนวนหัวกระจายน้ำดับเพลิงสำรอง

      ไม่เกิน 300 หัว

      ระหว่าง 300 หัวถึง 1,000 หัว

      ตั้งแต่ 1,000 หัวขึ้นไป

หมายเหตุ

หัวกระจายน้ำดับเพลิงสำรองจะต้องเตรียมไว้ทุกชนิดที่มีใช้ในอาคารหรือสถานประกอบการ นั้น ๆ

 



Scroll To Top