กฏหมายและข้อบังคับ




พระราชบัญญัติ ป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ. 2542
วันที่ 22/07/2023   02.19 PM

 

พระราชบัญญัติ
ป้องกันและระงับอัคคีภัย
พ.ศ. 2542
-----------------------
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2542
เป็นปีที่ 54 ในรัชกาลปัจจุบัน

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและระงับอัคคีภัย

พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 35 และมาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ. 2542”

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป*

(*ประกาศใน รจ. 116 ก ตอนที่ 28 หน้า 1 วันลง รจ. 19 เมษายน 2542 )

มาตรา 3 ให้ยกเลิก

(1) พระราชบัญญัติป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ. 2495

(2) พระราชบัญญัติป้องกันและระงับอัคคีภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2499

มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้

“ป้องกันอัคคีภัย” หมายความว่า การดำเนินการเพื่อมิให้เกิดเพลิงไหม้ และให้หมายความรวมถึงการเตรียมการเพื่อรองรับเหตุการณ์เมื่อเกิดเพลิงไหม้ด้วย

“ระงับอัคคีภัย” หมายความว่า การดับเพลิงและการลดการสูญเสียชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการเกิดเพลิงไหม้

“สิ่งที่ทำให้เกิดอัคคีภัยได้ง่าย” หมายความว่า เชื้อเพลิง สารเคมี หรือวัตถุอื่นใดไม่ว่าจะมีสถานะเป็นของแข็ง ของเหลวหรือก๊าซ ที่อยู่ในภาวะพร้อมจะเกิดการสันดาปจากการจุดติดใด ๆ หรือการสันดาปเอง ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา

“เจ้าพนักงานท้องถิ่น” หมายความว่า

(1) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สำหรับในเขตกรุงเทพมหานคร

(2) นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด สำหรับในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด

(3) นายกเทศมนตรี สำหรับในเขตเทศบาล

(4) ปลัดเมืองพัทยา สำหรับในเขตเมืองพัทยา

(5) ประธานกรรมการสุขาภิบาล สำหรับในเขตสุขาภิบาล

(6) ประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล สำหรับในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล

(7) หัวหน้าผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่กฎหมายกำหนดให้เป็นราชการส่วนท้องถิ่น สำหรับในเขตราชการส่วนท้องถิ่น

ในท้องถิ่นที่มีความจำเป็นรัฐมนตรีจะแต่งตั้งบุคคลซึ่งเห็นสมควรให้เป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

“ผู้อำนวยการดับเพลิงประจำท้องถิ่น” หมายความว่า ผู้อำนวยการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนเขตท้องที่ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน หรือผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีหน้าที่อำนวยการป้องกันอัคคีภัย ระงับอัคคีภัยและซ้อมระงับอัคคีภัย

“พนักงานดับเพลิง” หมายความว่า ผู้ซึ่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ช่วยเหลือพนักงานดับเพลิงในการป้องกันอัคคีภัยและระงับอัคคีภัย

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 5 ในการป้องกันอัคคีภัยและระงับอัคคีภัยให้ผู้อำนวยการดับเพลิงประจำท้องถิ่นและเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(1) จัดให้มีเครื่องดับเพลิง วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ และยานพาหนะสำหรับป้องกันอัคคีภัยและระงับอัคคีภัย

(2) จัดให้มีสถานที่สำหรับเก็บรักษาสิ่งของดังกล่าวใน (1) โดยแยกเป็นหน่วยตามความจำเป็นเพื่อใช้ป้องกันอัคคีภัยและระงับอัคคีภัยได้ทันท่วงที

(3) จัดให้มีอาณัติสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้

(4) จัดการบรรเทาทุกข์ และจัดการรักษาความสงบเรียบร้อยเมื่อเกิดเพลิงไหม้ ตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด

(5) จัดให้มีการอบรมและดำเนินการฝึกซ้อมป้องกันอัคคีภัยและระงับอัคคีภัย

(6) กำหนดระเบียบเกี่ยวกับหลักสูตรการฝึกอบรม และข้อปฏิบัติของอาสาดับเพลิง

(7) แต่งตั้งพนักงานดับเพลิงและอาสาดับเพลิงตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด

(8) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 6 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนด

(1) เงื่อนไขในการใช้ การเก็บรักษาและการมีไว้ในครอบครองซึ่งสิ่งที่ทำให้เกิดอัคคีภัยได้ง่าย

(2) กิจการอันอาจทำให้เกิดอัคคีภัยได้ง่าย และกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการดังกล่าวมีไว้ซึ่งบุคคลและสิ่งจำเป็นในการป้องกันอัคคีภัยและระงับอัคคีภัยตามสมควรแก่สภาพแห่งอาคารหรือกิจการนั้น

(3) อาณัติสัญญาณหรือเครื่องหมายเกี่ยวกับการป้องกันอัคคีภัยและระงับอัคคีภัย

(4) เครื่องหมายของผู้อำนวยการดับเพลิงประจำท้องถิ่น เจ้าพนักงานท้องถิ่น นายตรวจ พนักงานดับเพลิงและอาสาดับเพลิง

(5) เครื่องแบบและบัตรประจำตัวของนายตรวจ พนักงานดับเพลิงและอาสาดับเพลิง

กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ และให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกระเบียบและประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

หมวด 1

การป้องกันอัคคีภัย

----------------

มาตรา 7 ผู้อำนวยการดับเพลิงประจำท้องถิ่น หรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจแต่งตั้งเทศมนตรี กรรมการสุขาภิบาล ข้าราชการพลเรือน ข้าราชการส่วนท้องถิ่น หรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ตั้งแต่ระดับสามขึ้นไปหรือข้าราชการตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีขึ้นไปให้เป็นนายตรวจ เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ภายในเขตราชการส่วนท้องถิ่นนั้น

มาตรา 8 เพื่อประโยชน์ในการป้องกันอัคคีภัยตามหมวดนี้ ให้นายตรวจมีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้

(1) ตรวจตราสิ่งที่ทำให้เกิดอัคคีภัยได้ง่ายหรือสิ่งที่อยู่ในภาวะอันอาจทำให้เกิดอัคคีภัยได้ง่าย

(2) ตรวจตราบุคคลผู้มีหน้าที่ในการป้องกันอัคคีภัยและระงับอัคคีภัยที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ว่าปฏิบัติหน้าที่โดยถูกต้องหรือไม่

(3) เข้าไปในอาคารหรือสถานที่ ในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก หรือในเวลาทำการของสถานที่นั้น เพื่อตรวจตราการเก็บรักษาสิ่งที่ทำให้เกิดอัคคีภัยได้ง่าย หรือในเวลาอื่นกรณีมีเหตุฉุกเฉินอย่างยิ่งที่แสดงให้เห็นว่าสถานที่นั้นอยู่ในภาวะที่จะเกิดอัคคีภัย

(4) ให้คำแนะนำแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือสถานที่ให้ขนย้าย ทำลาย เปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขสิ่งที่ทำให้เกิดอัคคีภัยได้ง่ายหรือสิ่งที่อยู่ในภาวะอันอาจทำให้เกิดอัคคีภัยได้ง่าย

(5) เคลื่อนย้ายหรือทำลายสิ่งที่ทำให้เกิดอัคคีภัยได้ง่ายหรือสิ่งที่อยู่ในภาวะอันอาจทำให้เกิดอัคคีภัยได้ง่าย กรณีมีเหตุฉุกเฉินอย่างยิ่ง

ให้นายตรวจรายงานต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นทุกครั้งเมื่อได้ปฏิบัติการตามความในวรรคหนึ่ง

มาตรา 9 เมื่อได้รับรายงานจากนายตรวจว่าเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือสถานที่ไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของนายตรวจตามมาตรา 8 (4) หรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจพบด้วยตนเองว่ามีสิ่งที่ทำให้เกิดอัคคีภัยได้ง่าย สิ่งที่อยู่ในภาวะอันอาจทำให้เกิดอัคคีภัยได้ง่าย หรือการกระทำที่อาจทำให้เกิดอัคคีภัยได้ง่าย ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือสถานที่แก้ไขปรับปรุงหรือปฏิบัติให้ถูกต้องหรือเหมาะสมได้

คำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามวรรคหนึ่งให้ทำเป็นหนังสือและกำหนดระยะเวลาที่จะต้องปฏิบัติให้แล้วเสร็จตามคำสั่งไว้ตามสมควร แต่ต้องไม่เกินสามสิบวัน เว้นแต่เป็นกรณีที่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะขยายเวลาออกไปได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสิบห้าวัน

การส่งคำสั่งตามมาตรานี้ ให้นำส่ง ณ ภูมิลำเนาหรืออาคารหรือสถานที่ของบุคคลซึ่งระบุไว้ในคำสั่งในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก หรือจะส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับก็ได้

ในกรณีที่นำส่งแล้วแต่บุคคลซึ่งระบุไว้ในคำสั่งปฏิเสธไม่ยอมรับคำสั่ง ให้ผู้นำส่งขอให้พนักงาน

ฝ่ายปกครองหรือตำรวจไปเป็นพยานเพื่อวางคำสั่ง ณ ที่นั้น แต่ถ้าไม่พบบุคคลซึ่งระบุไว้ในคำสั่ง จะส่งให้กับบุคคลใดซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วซึ่งอยู่ในอาคารหรือสถานที่นั้นก็ได้ และถ้าไม่พบบุคคลใดหรือพบแต่ไม่มีบุคคลใดยอมรับไว้แทน ให้ปิดคำสั่งนั้นไว้ในที่ที่เห็นง่ายต่อหน้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่ไปเป็นพยาน

เมื่อได้ดำเนินการตามวรรคสามหรือวรรคสี่แล้ว ให้ถือว่าบุคคลซึ่งระบุไว้ในคำสั่งได้รับคำสั่งนั้นแล้ว แต่ถ้าเป็นการส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับหรือโดยการปิดคำสั่ง ให้ถือว่าได้รับคำสั่งนั้น เมื่อครบกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันที่พนักงานไปรษณีย์ได้ส่งหรือวันที่ได้ปิดคำสั่งนั้นไว้ แล้วแต่กรณี

มาตรา 10 ผู้ได้รับคำสั่งตามมาตรา 9 มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นต่อรัฐมนตรีได้ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง

การอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งให้ทำเป็นหนังสือและยื่นต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นผู้ออกคำสั่งดังกล่าว และให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นจัดส่งอุทธรณ์และเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไปยังรัฐมนตรีภายในสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์

ให้รัฐมนตรีมีคำสั่งวินิจฉัยอุทธรณ์ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์แล้วแจ้งคำสั่งพร้อมด้วยเหตุผลเป็นหนังสือไปยังผู้อุทธรณ์และเจ้าพนักงานท้องถิ่น

ในระหว่างอุทธรณ์ให้รอการปฏิบัติการตามคำสั่งไว้ก่อน เว้นแต่เจ้าพนักงานท้องถิ่นเห็นว่าสิ่งทำให้เกิดอัคคีภัยได้ง่ายหรือสิ่งที่อยู่ในภาวะอันอาจทำให้เกิดอัคคีภัยได้ง่ายนั้นมีลักษณะจะเป็นอันตรายซึ่งไม่อาจรอได้

คำสั่งของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด

มาตรา11 ภายใต้บังคับมาตรา 10 ถ้าไม่มีการปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐมนตรีหรือไม่มีการปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจดำเนินการหรือจัดให้มีการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งนั้นได้ เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร หรือสถานที่ต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการจัดการนั้นตามจำนวนที่จ่ายจริงรวมกับเบี้ยปรับในอัตราร้อยละยี่สิบห้าต่อปีของเงินจำนวนดังกล่าว

มาตรา 12 ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้นายตรวจติดเครื่องหมายและให้แสดงบัตรประจำตัวเมื่อบุคคลที่เกี่ยวข้องร้องขอ พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลในการเข้าไปในอาคารหรือสถานที่

มาตรา 13 เพื่อประโยชน์ในการป้องกันอัคคีภัย ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับนายตรวจตามมาตรา 8 ด้วย

การเข้าไปในอาคารหรือสถานที่ให้นำความในมาตรา 12 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 14 ในกรณีฉุกเฉินเมื่อมีเหตุการณ์ที่อาจก่อให้เกิดเพลิงไหม้ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจดำเนินการหรือสั่งให้พนักงานดับเพลิงหรืออาสาดับเพลิงดำเนินการ ดังต่อไปนี้

(1) กำหนดบริเวณหรือสถานที่ที่อาจเกิดเพลิงไหม้

(2) จัดระเบียบการจราจรชั่วคราวในบริเวณที่เป็นประโยชน์ในการป้องกันอัคคีภัย

(3) ปิดกั้นมิให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปในบริเวณหรือสถานที่ที่กำหนด

(4) เคลื่อนย้ายหรือทำลายสิ่งที่อาจก่อให้เกิดเพลิงไหม้

หมวด 2

การระงับอัคคีภัย

-----------------

มาตรา 15 ให้ผู้อำนวยการดับเพลิงประจำท้องถิ่น เจ้าพนักงานท้องถิ่น พนักงานดับเพลิง และเจ้าพนักงานตำรวจ มีหน้าที่ระงับอัคคีภัย โดยให้ติดเครื่องหมายและให้แสดงบัตรประจำตัวเมื่อบุคคลที่เกี่ยวข้องร้องขอ

มาตรา 16 ให้ผู้อำนวยการดับเพลิงประจำท้องถิ่นมีอำนาจบังคับบัญชา เจ้าพนักงานท้องถิ่นพนักงานดับเพลิง และเจ้าพนักงานตำตรวจในขณะเกิดเพลิงไหม้

ในกรณีที่มีผู้อำนวยการดับเพลิงประจำท้องถิ่นมากกว่าหนึ่งคนขึ้นไปปฏิบัติหน้าที่อำนวยการระงับอัคคีภัยพร้อมกัน อำนาจในการบังคับบัญชาให้เป็นไปตามประกาศที่รัฐมนตรีกำหนด

มาตรา 17 ในการดำเนินการตามหมวดนี้ ผู้อำนวยการดับเพลิงประจำท้องถิ่น เจ้าพนักงานท้องถิ่น พนักงานดับเพลิง และเจ้าพนักงานตำรวจอาจขอให้อาสาดับเพลิงเข้าช่วยในการดำเนินการดังกล่าวของตนได้ ในการนี้ให้อาสาดับเพลิงมีอำนาจดำเนินการตามที่ได้รับการขอให้ช่วย

ในขณะปฏิบัติงานตามวรรคหนึ่ง อาสาดับเพลิงต้องแต่งเครื่องแบบและติดเครื่องหมายและให้แสดงบัตรประจำตัวเมื่อบุคคลที่เกี่ยวข้องร้องขอ

มาตรา 18 ให้ผู้อำนวยการดับเพลิงประจำท้องถิ่น เจ้าพนักงานท้องถิ่น พนักงานดับเพลิง และเจ้าพนักงานตำรวจ มีอำนาจใช้เครื่องดับเพลิง วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้หรือยานพาหนะสำหรับระงับอัคคีภัยของเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือสถานที่ที่เกิดเพลิงไหม้ หรือของเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือสถานที่ที่อยู่ใกล้เคียงได้เท่าที่จำเป็นเพื่อระงับอัคคีภัย

มาตรา 19 ให้ผู้อำนวยการดับเพลิงประจำท้องถิ่น เจ้าพนักงานท้องถิ่น พนักงานดับเพลิงและเจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจเข้าไปในอาคารหรือสถานที่ที่เกิดเพลิงไหม้ เพื่อทำการดับเพลิงหรือช่วยเหลือผู้ประสบอัคคีภัย

การเข้าไปในอาคารหรือสถานที่ที่อยู่ใกล้เคียงกับบริเวณเพลิงไหม้เพื่อทำการดับเพลิงหรือช่วยเหลือผู้ประสบอัคคีภัย ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือสถานที่ก่อน เว้นแต่เมื่อมีเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่งซึ่งเป็นข้าราชการพลเรือน ข้าราชการส่วนท้องถิ่นหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นตั้งแต่ระดับสามขึ้นไป หรือข้าราชการตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีขึ้นไป เป็นหัวหน้าควบคุมรับผิดชอบในการเข้าไปในอาคารหรือสถานที่นั้นอยู่ด้วย

การขนย้ายทรัพย์สินออกจากอาคารหรือสถานที่ตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้กระทำได้เมื่อเจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินนั้นร้องขอ เว้นแต่ในกรณีเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดอัคคีภัยได้ง่ายให้ผู้มีอำนาจเข้าไปในอาคารหรือสถานที่ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองมีอำนาจขนย้ายได้ตามความจำเป็นแก่การระงับอัคคีภัย

มาตรา 20 เพื่อประโยชน์ในการระงับอัคคีภัย ผู้อำนวยการดับเพลิงประจำท้องถิ่นมีอำนาจดำเนินการหรือสั่งให้เจ้าหน้าที่ตามมาตรา 15 ดำเนินการ ดังต่อไปนี้

(1) กำหนดสถานที่ชั่วคราวสำหรับการเคลื่อนย้ายหรือการปฐมพยาบาลผู้ประสบอัคคีภัย และการรักษาทรัพย์สินของผู้ประสบอัคคีภัย

(2) จัดระเบียบการจราจรชั่วคราวในบริเวณที่เป็นประโยชน์ในการระงับอัคคีภัย

(3) ปิดกั้นมิให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปในบริเวณเพลิงไหม้และบริเวณใกล้เคียงกับบริเวณเพลิงไหม้

(4) จัดการรักษาความสงบเรียบร้อยและป้องกันเหตุโจรผู้ร้าย

(5) ช่วยเหลือผู้ประสบอัคคีภัย

(6) ช่วยขนย้ายทรัพย์สินในบริเวณเพลิงไหม้และบริเวณใกล้เคียงกับบริเวณเพลิงไหม้ เมื่อเจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินร้องขอ

(7) ใช้บ่อน้ำ สระน้ำ ท่อน้ำ ทางระบายน้ำ และแหล่งน้ำอื่นใด ไม่ว่าจะเป็นของบุคคลใด

มาตรา 21 เพื่อประโยชน์ในการควบคุมมิให้เพลิงลุกลามต่อไป ผู้อำนวยการดับเพลิงประจำท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้รื้อถอน ย้าย ทำลายทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วนซึ่งอาคารหรือสิ่งที่จะเป็นสื่อให้เพลิงลุกลามต่อไปได้ ตามที่จำเป็นและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

มาตรา 22 เจ้าของ ผู้ครอบครอง หรือบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแลรักษาที่อยู่ในอาคารหรือสถานที่ที่เป็นต้นเพลิงในขณะที่เกิดเพลิงไหม้มีหน้าที่ดับเพลิงเท่าที่สามารถกระทำได้ และต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตามมาตรา 15 ทราบโดยด่วน

มาตรา 23 ผู้ใดพบเพลิงเริ่มไหม้ให้แจ้งต่อเจ้าของ ผู้ครอบครอง หรือบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแลรักษาอาคารหรือสถานที่ที่เป็นต้นเพลิง เพื่อทำการดับเพลิง ถ้าไม่ปรากฏตัวบุคคลดังกล่าว และเพลิงนั้นอยู่ในสภาพที่ตนสามารถดับได้ ก็ให้ทำการดับเพลิงนั้นทันที ถ้าเพลิงนั้นอยู่ในสภาพที่ตนไม่สามารถดับได้ให้รีบแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตามมาตรา 15 ทราบโดยด่วน

มาตรา 24 เพื่อประโยชน์ในการซ้อมระงับอัคคีภัย ให้ผู้อำนวยการดับเพลิงประจำท้องถิ่นมีอำนาจดำเนินการหรือสั่งให้พนักงานดับเพลิงหรือเจ้าหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามที่เห็นสมควรละจำเป็น ดังต่อไปนี้

(1) กำหนดบริเวณและสถานที่สำหรับทำการซ้อมระงับอัคคีภัย

(2) จัดระเบียบการจราจรชั่วคราวในบริเวณที่เป็นประโยชน์ในการซ้อมระงับอัคคีภัย

(3) ปิดกั้นมิให้ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปในบริเวณที่ซ้อมระงับอัคคีภัย

หมวด 3

บทเบ็ดเตล็ด

-------------

มาตรา 25 ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่น นายตรวจ ผู้อำนวยการดับเพลิงประจำท้องถิ่น และพนักงานดับเพลิงเป็นเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 26 บรรดาเบี้ยปรับและค่าปรับตามพระราชบัญญัตินี้ให้เป็นรายได้ของท้องถิ่นเพื่อนำไปใช้จ่ายเกี่ยวกับการป้องกันอัคคีภัยและระงับอัคคีภัยของท้องถิ่นนั้น

หมวด 4

บทกำหนดโทษ

---------------

มาตรา 27 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงนั้นออกตามมาตรา 6 (1) หรือ (2) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 28 ผู้ใดขัดขวางไม่ยอมให้นายตรวจ หรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นเข้าไปในอาคารหรือสถานที่ตามมาตรา 8 (3) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 29 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐมนตรีตามมาตรา 10 วรรคสาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 30 ผู้ใดเข้าไปในบริเวณที่เจ้าหน้าที่ปิดกั้นตามมาตรา 14 (3) หรือมาตรา 20 (3) โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท

มาตรา 31 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 22 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 32 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 23 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท

มาตรา 33 ผู้ใดเข้าไปในบริเวณที่เจ้าหน้าที่ปิดกั้นตามมาตรา 24 (3) โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท

มาตรา 34 ผู้ใดแต่งเครื่องแบบ หรือติดเครื่องหมายสำหรับผู้อำนวยการดับเพลิงประจำท้องถิ่น เจ้าพนักงานท้องถิ่น นายตรวจ พนักงานดับเพลิงหรืออาสาดับเพลิงโดยไม่มีสิทธิ เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นบุคคลดังกล่าว หรือแสดงตนเป็นบุคคลดังกล่าว และกระทำการตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทังปรับ

มาตรา 35 ผู้ใดแจ้งเหตุหรือให้อาณัติสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้อันเป็นเท็จต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 36 ผู้ใดไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย ทำลาย เคลื่อนย้ายกีดขวางหรือทำให้เกิดอุปสรรคต่อการใช้อาณัติสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ เครื่องดับเพลิงหรือท่อส่งน้ำดับเพลิง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคลอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

บทเฉพาะกาล

-------------

มาตรา 37 บรรดากฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ และคำสั่งที่ออกตามพระราชบัญญัติป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ. 2495 ที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้ได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้จนกว่าจะมีกฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศและคำสั่งตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

 

 

                      ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

                                     ชวน หลีกภัย

                                    นายกรัฐมนตรี



Scroll To Top